Thai Health Risk

เครื่องทำนายความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในประชากรไทย (Thai Stroke Risk Score)

คุณสามารถใช้เครื่องมือนี้ในการคำนวณระดับความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคอัมพฤกษ์อัมพาต ในช่วงเวลา 5 ปีข้างหน้าโดยการป้อนข้อมูลที่หาได้ง่าย นั่นคือท่านสามารถใช้เครื่องมือนี้ในการทำนายว่าโอกาสในการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคอัมพฤกษ์อัมพาตใน 5 ปีข้างหน้ามีมากน้อย คิดเป็นร้อยละเท่าไหร่ และยังสามารถบอกได้ว่า เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่อายุและเพศเดียวกันกับท่าน แต่สุขภาพแข็งแรงดี (ไม่เป็นโรคเบาหวานหรือโรคความดันโลหิตสูง และออกกำลังกายสม่ำเสมอ) ท่านมีความเสี่ยงจะเป็นโรคหลอดเลือดสมองเป็นกี่เท่า ดังนั้นเครื่องมือนี้ใช้กับคนที่ยังไม่เป็นโรคหลอดเลือดสมองเท่านั้น

สมการที่ใช้ในการทำนายความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมองนี้ พัฒนาขึ้นโดยทีมแพทย์และนักวิจัยทางการแพทย์ที่ทำงานภายใต้โครงการ Health Checks Ubon Ratchathani (HCUR) Study ซึ่งใช้ข้อมูลการตรวจสุขภาพของประชากรทั่วไปในจังหวัดอุบลราชธานีจำนวนกว่า 7 แสนคน เชื่อมกับข้อมูลการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองจากเวชระเบียนโรงพยาบาลและข้อมูลสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตลอดระยะเวลาการติดตาม 5 ปี ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

เครื่องทำนายความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในประชากรไทย องค์กรวิชาชีพระดับนานาชาติเช่น American Heart Association และ European Heart Association ให้ข้อเสนอแนะว่า ประชาชนทั่วไปควรใช้เครื่องมือประเมินความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองในการค้นหาคนกลุ่มเสี่ยงสูงเพื่อจะได้ให้กิจกรรมในการป้องกันโรคได้ โดยท่านสามารถใช้เครื่องมือนี้ในการประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจของท่าน และถ้าความเสี่ยงของท่านสูงกว่าร้อยละ 1 ถือว่าท่านเรื่มมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น แนะนำให้ท่านไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจประเมินเพิ่มเติมและพิจารณาให้การรักษาและให้กิจกรรมป้องกันโรคต่อไป

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจในการให้การรักษาหรือให้กิจกรรมป้องกันโรคนั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของท่านภายใต้คำแนะนำของแพทย์ที่ดูแล ทีมผู้วิจัยจะไม่ได้รับผิดชอบต่อการนำเครื่องมือนี้ไปใช้งานทางคลินิกหรือกรณีนำไปใช้งานอย่างไม่ถูกต้อง

ท่านสามารถดูรายละเอียดเนื้อหาของการพัฒนาเครื่องมือทำนายโรคหลอดเลือดสมองในประชากรไทยนี้ ในรายงานฉบับเต็ม และเอกสารอ้างอิง ได้ที่นี่